มองต่างมุม: วรรณคดีไทยและวรรณกรรมต่างประเทศ
วรรณกรรมมิใช่เป็นแต่เพียงสื่อเพียงอย่างเดียว หากแต่สิ่งที่แฝงลึกลงไปในช่องไฟระหว่างตัวอักษรนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางทางปัญญาของกวี และที่สำคัญกว่านั้นคือความจริงใจที่กวีเขียนสะท้อนต่อตัวเองและต่อผู้อ่าน วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชาติที่เจริญรุ่งเรืองแล้วทุกชาติจะต้องมีวรรณกรรมเป็นของตนเอง และวรรณกรรมจะมีมากหรือน้อย ดีหรือเลว ก็แล้วแต่ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของชนชาตินั้น ๆ วรรณกรรมจึงเป็นหน้าต่างสะท้อนภาพวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ของแต่ละสังคม ในแต่ละชาติย่อมมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่ลักษณะร่วมของทั้งวรรณคดีไทยและวรรณกรรมต่างประเทศ คือ ความงามทางภาษา ตัวละคร และคุณค่าที่ปรากฏ
วรรณคดีไทยเป็นผลงานที่กวีในแต่ละยุคสมัยสร้างขึ้น โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งเน้นความอลังการทางด้านเสียงที่ไพเราะ และมีความหมายที่ลึกซึ้ง ทั้งนี้เพราะวรรณคดีไทยมีลักษณะอันโดดเด่นหลายประการทั้งการใช้สำนวนภาษา หรือสุนทรียศาสตร์ทางภาษาที่งดงาม มีการเล่นคำ ทั้งคำพ้อง คำซ้ำ อย่างวิจิตรบรรจง วรรณคดีไทยมีลักษณะเด่นในการเลือกสรรคำมาใช้ในการบรรยายความ เปรียบเทียบ พรรณนา ที่แสดงความรู้สึกของตัวละครไว้อย่างชัดเจน ที่เรียกว่า “ภาพพจน์” รวมไปถึงวรรณคดีไทยยังมีการใช้คำศัพท์ที่เกิดจากการใช้คำภาษาถิ่น คำยืมจากภาษาต่างประเทศ ที่ทำให้เกิดความอลังการของการใช้คำ นอกจากนี้ในด้านของตัวละคร วรรณคดีไทยมีการสร้างตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวละครในอุดมคติ เกิดจากจินตนาการ ตัวละครในวรรณคดีไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะพิเศษเหนือมนุษย์ มีอิทธิฤทธิ์ ใช้ของวิเศษ เป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือเกินจริง บางเรื่องเป็นมนุษย์ที่ตกระกำลำบากและได้รับความช่วยเหลือจากเทวดาเพราะเป็นคนดี แทบทุกเรื่องมีเนื้อหาชวนตื่นเต้นให้ติดตามอ่านและฟัง นอกจากนี้วรรณคดีไทยยังให้ความสำคัญกับการสะท้อนคุณค่าและแนวคิดที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็น การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ความกตัญญู ความจงรักภักดี ความรักและความพลัดพราก อีกทั้งคุณค่าที่สำคัญคือการสะท้อนความเชื่อและค่านิยมไทยไว้ด้วย เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี จากที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เห็นว่าความโดดเด่นทางวรรณคดีไทยทั้งสามประการ เป็นเอกลักษณ์ของวรรณคดีไทยที่ทั้งคนไทยและต่างชาติชื่นชมในความงดงามทางภาษา
ส่วนวรรณกรรมต่างประเทศ เช่น วรรณกรรมอังกฤษ วรรณกรรมสเปน วรรณกรรมจีน วรรณกรรมญี่ปุ่น เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้ใช้ภาษาตามลักษณะของท้องถิ่น ใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารแบบธรรมดา ไม่การใช้คำคล้องจองแต่ไม่แพรวพราวดีเด่นเหมือน
วรรณคดีไทย กวีเลือกสรรคำมาใช้ตามบริบทของเนื้อหา แต่อาจต้องมีการตีความหมายแฝงของคำบ้าง นอกจากนี้ตัวละครในวรรณกรรมต่างประเทศมีลักษณะเป็นมนุษย์ธรรมดา พระราชา ราชินี แม่มด ลูกเลี้ยง เป็นต้น ตัวละครมีพฤติกรรมที่ถอดแบบพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม เพราะวรรณกรรมต่างประเทศส่วนใหญ่สะท้อนความเป็นปุถุชน ไม่เน้นเวทย์มนต์คาถา อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ประการสำคัญวรรณกรรมต่างประเทศนั้นก็เช่นเดียวกันกับวรรณคดีไทยคือ มีคุณค่าทางอารมณ์ คุณค่าทางปัญญา คุณค่าทางศีลธรรม คุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจินตนาการ คุณค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์ คุณค่าทางการใช้ภาษา และคุณค่าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดจากการสร้างวรรณกรรมและศิลปกรรมด้านต่าง ๆ คุณค่าของวรรณกรรมต่างประเทศนั้นเน้นไปที่การสร้างสรรค์สังคม สะท้อนวิถีชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ อีกด้วย
วรรณคดีหรือวรรณกรรมมีบทบาทเหมือนงานศิลปะประเภทอื่น ๆ คือ สร้างความบันเทิงและความจรรโลงใจ ความบันเทิงใจ
หมายถึงความอิ่มเอมใจอิ่มอารมณ์เมื่อได้เสพรสงานศิลปะ วรรณคดีจึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่กล่อมเกลามนุษย์ ให้รู้จักความงาม ความดี และความเป็นจริงของชีวิต ทั้งวรรณคดีไทยและวรรณกรรมต่างประเทศต่างก็ให้คุณค่าในการสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นภาพหลากหลายของชีวิตมนุษย์ ทั้งดีงามและต่ำทราม แม้ว่าความแตกต่างระหว่างความงามทางภาษา ตัวละคร รวมไปถึงคุณค่าของทั้งคู่จะแตกต่างกัน แต่ลักษณะรวมอันเป็นสากลคือความงามของชีวิตที่ปรากฏอย่างชัดเจนในวรรณกรรม